ออกค่ายหาประสบการณ์อ่านใบลานนับร้อยปี
สวัสดีค่ะนักอ่านทั้งหลาย วันนี้ผู้เขียนมีเรื่องจะมาเล่าให้ฟัง
เท้าความก่อนว่าเมื่อวันที่25กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้ออกค่ายเพื่อไปหาประสบการณ์จากใบลาน
ซึ่งเพื่อนๆเคยได้ยินหรือเคยเห็นใบลานกันบ้างไหมคะ
ส่วนตัวผู้เขียนนี้ได้ยินแต่ชื่อและเคยเห็นรูปภาพจากการสอนของอาจารย์
พอได้เห็นของจริงที่มีอายุมากกว่าร้อยปีก็แอบตกใจอยู่เหมือนกันค่ะว่าร้อยกว่าปีแล้วทำไมบางใบลานยังคงสภาพที่ดีอยู่และอาจจะมีบางส่วนที่ขาดหายไปตามช่วงเวลา
ใครที่ยังไม่เคยสัมผัสหรือไม่เคยเห็นวันนี้ผู้เขียนจะมาบรรยายให้ฟังกันจนเห็นภาพกันเลยค่ะ
สำหรับใบลานที่ผู้เขียนได้ไปสัมผัสนั้นอยู่ใน วัดจอมมณี บ้านนาหมูม่น หมู่ 2 ตำบลนาดี อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นวัดที่ไม่มีชื่อเสียงในสถานที่ท่องเที่ยวแต่วัดนี้มีอะไรให้เราได้เรียนรู้หลายอย่าง ภายในวัดก็เหมือนวัดป่าทั่วไปค่ะ แต่จะมีศาลาหนึ่งที่สร้างด้วยไม้ที่เหมือนจะทรุดโทรมตามการเวลา ในศาลานั้นมีคัมภีร์ใบลานที่อายุนับร้อยปีอยู่มากมาย เมื่อผู้เขียนเดินทางถึงวัดแล้วก็ได้ขึ้นไปบนศาลาที่ทางขึ้นนั้นมีเสียงอี๊ด อี๊ด น่าจะเกิดจากการไม้ที่สร้างมานานพอสมควร และขึ้นไปแล้วก็ได้พบกับกองใบลานที่เยอะมาก ในความที่มันซ้อนกันอยู่นั้นก็มีความคิดอยู่ว่าถ้าได้อ่านหมดนี่คงเป็นลมก่อนอ่านจบแน่ๆ เพราะเราก็ไม่ได้เก่งขนาดนั้นยังเป็นเด็กฝึกหัดอยู่ กองใบลานนั้นมีทั้งฝุ่นเกาะจนแทบจะไม่เห็นตัวหนังสือ เวลาจับขึ้นมาเสื้อผ้าต้องเปื้อนฝุ่นถุงมือสีขาวก็กลายเป็นสีดำ เรื่องอากาศก็พอได้เพราะที่ศาลากว้างและลมเพลมพัดตลอดวัน
ได้เวลาลงมือเก็บเกี่ยวประสบการณ์แล้ว ในค่ายนี้เราได้แบ่งหน้าที่กันออกไปทำหน้าที่ที่ตนเองได้รับมอบหมาย มีทั้งคัดแยกใบลาน เช็ดใบลานให้สะอ่าน อ่านชื่อเรื่องและเขียนไว้ให้อยู่หมวดเดียวกัน ซ่อมใบลาน และสุดท้ายห่อใบลาน ทั้งหมดนี้ถ้าใครทำหน้าที่ตัวเองเสร็จแล้วก็สามารถมาช่วยเพื่อนได้ ส่วนตัวผู้เขียนนี้มีหน้าที่อ่านใบลานทีแรกนึกว่าจะทำไม่ได้เพราะของจริงตัวหนังสือแต่ละคนก็เหมือนคนปัจจุบันที่มีทั้งตัวหนังสือที่สวยงามและตัวหนังสือที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ในแต่ละขั้นตอนต้องพิถีพิถันสุดๆ เช่นการที่เราแยกใบลานเราต้องจับเบาๆ เพราะใบลานนี้มีอายุเก่าแก่มันจะขาดได้ง่าย และต่อมาการเช็ดใบลานในขั้นตอนนี้เราต้องมือเบาเช็ดให้ฝุ่นที่เกาะตัวหนังสือออกให้หมดเพื่อที่จะส่งให้คนอ่านอ่านได้ง่าย แต่การอ่านเราต้องดูให้ดีดูให้ชัดเพราะมันเป็นชื่อเฉพาะทั้งนั้น การหาชื่อเรื่องจากใบลานนั้นก็หาจากปกหน้าหรือใบหลบหน้าหรือปกหลัง ใบหลบหลังนั่นเองค่ะ อ่านเสร็จแล้วเราก็เขียนชื่อเรื่องและนำไปแยกกันไว้ตามหมวดหมู่ถ้าหากผูกไหนขาดก็ซ่อมให้เรียบร้อย ลืมบอกค่ะว่าผูกในที่นี้หมายถึงลักษณนามเรียกหนังสือใบลานที่ร้อยหูไว้มัดหนึ่ง ๆ ว่า คัมภีร์เทศนาผูกหนึ่ง หลังจากที่เราได้ชื่อเรื่องหมดแล้วก็นำไปห่อเก็บไว้เพื่ออนุรักษ์ไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานเราได้เข้ามาศึกษาจะได้ไม่หายไปก่อนเวลาอันสมควร แต่ๆไม่ได้อ่านหมดนะคะอ่านแค่ชื่อเรื่องและถ้าผูกไหนไม่มีชื่อเรื่องก็จะนำไปรวมกันและห่อรวมกันไว้ค่ะ ผู้เขียนโล่งใจนึกว่าจะได้อ่านหมด ถ้าอ่านหมดไม่รู้จะได้กลับบ้านตอนไหนเพราะมีเยอะมากเลยค่ะและมีหลากหลายรูปแบบเช่น ฉบับล่องชาด คือเอกสารใบลานที่ลงพื้นด้านข้างเป็นสีแดงด้วยชาดแล้วคาดสลับด้วยสีทองจากทองคำเปลว แต่ในใบลานจริงไม่ค่อยเห็นสีเด่นชัดหรอกค่ะเพราะคิดว่าสีจะหายไปตามกาลเวลา ผู้เขียนก็ไม่รู้รูปแบบมากสักเท่าไหร่เลยยกตัวอย่างมาพอเข้าใจ
และสุดท้ายนี้การที่ผู้เขียนได้เข้ามารู้จักใบลานที่มีตัวหนังสือต่างจากปัจจุบันพอสมควรทำให้รู้สึกได้ว่าการที่เรามีภาษาของตัวเองใช้ในประเทศนี้มันดีมากๆ เราควรภูมิใจในภาษาไทยของเราและอยากให้ทุกคนอนุรักษ์ไว้เพราะข้อมูลที่เขียนในใบลานมันสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญา วิถีชีวิต และความเชื่อของคนในท้องถิ่นนั้นๆด้วยเพราะใบลานจะบันทึกเรื่องราวของแต่ละยุคนั้นไว้ให้อยู่ในรูปแบบตัวหนังสือที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านมานานเท่าไหร่ถ้าเราได้ไปเปิดอ่านก็จะเห็นภาพยุคนั้นขึ้นมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น